“สภาพัฒน์” เปิด 5 ความท้าทายภูมิรัฐศาสตร์โลก ชี้ไทยหาโอกาสจากความเสี่ยง

23 กันยายน 2567
“สภาพัฒน์” เปิด 5 ความท้าทายภูมิรัฐศาสตร์โลก ชี้ไทยหาโอกาสจากความเสี่ยง
“สภาพัฒน์” เปิด 5 ความท้าทาย ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์โลก แนะไทยโอกาสจากความเสี่ยง จากการย้ายฐานการผลิตและการเร่งสร้างฐานการผลิตใหม่ เพื่อสร้างความได้เปรียบ

วันที่ 23 กันยายน 2567 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยในงานสัมมนา พลิกความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ สร้างโอกาส ประเทศไทย ว่า ปัจจุบัน ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (GEOPOLITICS) เกิดขึ้นในหลายรูปแบบทั้งเรื่องความมั่นคงทางอาหาร เศรษฐกิจ ความมั่นคงทางพลังงาน และล่าสุดคือ เรื่องของเทคโนโลยี ที่มีทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยี และการปิดกั้นเทคโนโลยี

โดยปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก นำไปสู่ความไม่มั่นคงในหลากหลายมิติ และแต่ละเรื่องส่งผลต่อไทยด้วย เพราะเป็นประเทศเล็ก โดยในระยะต่อไป ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก จะยังคงส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก จากการกีดกันทางการค้าที่ยังเกิดขึ้น ผลกระทบต่อพลังงาน แม้ว่าขณะนี้ราคาพลังงานจะทรงตัว แต่ในระยะถัดไปหากสงครามในตะวันออกกลางขยายวงกว้าง อาจมีปัญหาในเรื่องพลังงานตามมา รวมถึงยังมีผลต่อการสูญเสียระบบนิเวศ ความเสียหาต่อชีวิตและทรัพย์สิน วิกฤตผู้ลี้ภัย อาชญากรรมข้ามชาติ

สำหรับสิ่งที่ต้องติดตาม คือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ โดยมีนโยบายที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกัน คือ การกดดันของจีนยังดำรงอยู่ ดังนั้น ปัญหาสงครามเทคโนโลยี สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน จะยังดำรงอยู่ ซึ่งจะกระทบกับประเทศไทย แต่มองว่าจะเป็นโอกาสของไทยด้วย

“สงครามการค้า นำไปสู่สงครามเทคโนโลยี และขยายไปสู่เทคโนโลยีในหลายสาขา ส่งผลกระทบต่อหลายประเทศ โดยสมรภูมิหลัก คือ เซมิคอนดักเตอร์, ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า, ผลิตภัณฑ์เหล็ก, แร่ธาตุหายาก และแพลตฟอร์มดิจิทัล สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตและการเร่งสร้างฐานการผลิตใหม่ เกิดการควบคุมสินค้าวัตถุดิบสำคัญ การแบ่งแยกของห่วงโซ่อุปทาน เป็นต้น” นายดนุชากล่าว

นายดนุชากล่าวอีกว่า ความท้าทายของไทย ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์โลก ประกอบด้วย

1.การค้าการลงทุน FDI ที่ไหลสู่ประเทศในภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่อง และการไหลเข้ามาของสินค้าราคาถูกจากจีนที่กระทบผู้ประกอบการภาคการผลิตของไทยโดยเฉพาะเอสเอ็มอี หรือผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศคู่ขัดแย้ง

2.เทคโนโลยี ควรให้ความสำคัญกับแพลตฟอร์มให้บริการที่แยกจากกัน ที่จะส่งผลให้ต้นทุนการใช้บริการสูง รวมถึงประเด็นความปลอดภัยทางไซเบอร์และช่องว่างทางดิจิทัล

3.แรงงานและทักษะ การพัฒนา Ecosystem ที่เอื้อต่อการดึงดูดแรงงานทักษะสูง และทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับแนวโน้มทางเทคโนโลยีและตลาด รวมถึงการพัฒนาเมืองที่สามารถดึงดูด Talent การรองรับแรงงานหรือผู้ย้ายถิ่นจากเมียนมาร์

4.ความมั่นคงทางอาหารด้วยการรับมือปัญหาราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น ส่งผลต่อราคาสินค้าเกษตร และมาตรการการุค้าระหว่างประเทศที่ยึดโยงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งเป็นทั้งแรงจูงใจและแรงกดดันในการผลิตอาหาร และ 5.ความมั่นคงทางพลังงาน ไทยมีสัดส่วนนำเข้าพลังงานที่สูง แม้ยังมีศักยภาพในการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติระดับหนึ่ง แต่ยังไม่สามารถเกิดความมั่นคงทางพลังงาน ไทยจึงต้องเร่งสร้างความร่วมมือและใช้ประโยชน์จากการเป็นศูนย์กลางพลังงานของภูมิภาคและการพัฒนาพลังงานสะอาด และต้องใช้ประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีและ Critical Materials ที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างชาญฉลาด

สำหรับการบริหารจัดการเพื่อรับมือความผันผวนของภูมิรัฐศาสตร์โลก มีดังนี้

1.การวางตำแหน่งเชิงกลยุทธ์ ด้านนโยบายระหว่างประเทศที่เหมาะสม เพื่อรับมือความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ยืดเยื้อมานาน

2.การรับมือมาตรการทางเศรษฐกิจ การกีดกันทางการค้าระหว่างขั้วอำนาจ ซึ่งกระทบต่อการค้าการลงทุน และการส่งออกของไทย

3.การสร้างความร่วมมือของกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อสสร้างความมั่นคงในภูมิภาค และท่าทีที่เหมาะสมของไทยในการรับมือสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศเพื่อนบ้าน และ

4.การยกระดับศักยภาพในการผลิต และการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานเพื่อสร้างความมั่นคงอาหารและความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก
แหล่งที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.